บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

กรุณาอธิบายประวัติความเป็นมาและโครงสร้างธุรกิจของ AH

เราเริ่มจากธุรกิจประกอบและจัดจำหน่ายรถยนต์ Ford และค่อยๆ ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์โดยก่อตั้ง AH ขึ้นในปี 1996 จากนั้น ได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2002 เนื่องจากเราต้องการระดมเงินทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ภายหลังการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เราได้ขยายธุรกิจออกไปโดยการเข้าซื้อกิจการและเข้าร่วมทุนทั้งในประเทศไทยและประเทศจีน สร้างโรงงานเพิ่มเพื่อขยายกำลังการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับ OEM นอกจากนั้น เราได้มีการลงทุนเพิ่มในส่วนธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยสำหรับรถยนต์มิตซูบิชิและในประเทศมาเลเซียสำหรับรถยนต์ฮอนด้า ปัจจุบัน เรายังมีแผนงานสำคัญในส่วนธุรกิจเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่งหรือ Internet of Things สำหรับยานยนต์เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากฐานธุรกิจซอฟท์แวร์ระบบนำทางและแผนที่ดิจิตัล ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าหลักของธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ได้แก่ Isuzu, AAT, Nissan, Ford, Toyota และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าธุรกิจหลักของเราล้วนมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมด

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ AH แตกต่างจากคู่แข่ง?

สำหรับธุรกิจของเรา หลักการสำคัญ ได้แก่ คุณภาพสินค้าโดยในหนึ่งล้านชิ้นจะต้องมีจำนวนของเสียเป็นศูนย์หรืออีกนัยหนึ่งคือไม่มีของเสียเลย มีการจัดส่งที่ตรงเวลา 100% ทุกครั้ง และมีต้นทุนต่ำที่สุด ในครั้งแรกที่เราได้รับเลือกให้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับอีซูซุเมื่อกว่าสิบปีก่อน สัญญาได้กำหนดว่าเราต้องลดต้นทุนลง 30% ซึ่งเราก็ทำได้สำเร็จโดยที่ยังสามารถจัดการให้มีผลกำไรด้วย ด้วยความสำเร็จครั้งนั้น เราจึงได้รับเลือกเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับอีซูซุสำหรับอีกหลายโครงการต่อมา และตอนนี้เราเป็นบริษัทไทยเพียงแห่งเดียวที่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตโครงช่วงล่างรถยนต์จากญี่ปุ่น และได้เลื่อนสถานะจากผู้ผลิตลำดับที่ 2 ขึ้นเป็นลำดับที่ 1 ให้กับทางผู้ผลิตรถยนต์โดยตรง นอกจากนี้ AH ยังผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ส่งออกไปยุโรปและญี่ปุ่นอีกด้วย และการเติบโตของการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ก็กำลังจะแซงหน้าการเติบโตของการส่งออกรถยนต์ เนื่องด้วยเพราะเราสามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าและคงรักษามาตรฐานคุณภาพที่เป็นเลิศไว้ได้ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ บริษัทรถยนต์ทุกแห่งต่างกลัวการเรียกคืนสินค้า และถ้าสายเบรกหรือถังน้ำมันที่เราผลิตเกิดมีปัญหาก็จะส่งผลเสียและทำลายชื่อเสียงของบริษัทและประเทศไทยอย่างแน่นอน สุดท้าย ในช่วงวิกฤติอุทกภัยในปี 2011 เมื่อหนึ่งในโรงงานหลักของเราประสบภัยน้ำท่วม ภายในวันเดียว เราได้จัดนักประดาน้ำดำลงไปเอาแม่พิมพ์และเคลื่อนย้ายทุกอย่างที่จำเป็นไปที่โรงงานในจังหวัดระยองเพื่อให้ดำเนินการผลิตต่อได้ เพราะโรงงานของเราผลิตชิ้นส่วนอย่างน้อย 1 ชิ้นให้กับรถยนต์ทุกคันที่ผลิตในประเทศไทย และชิ้นส่วนบางชิ้นก็ไม่สามารถผลิตที่อื่นเพื่อทดแทนกันได้ ถ้าเราต้องหยุดการผลิตนั่นหมายถึงการผลิตรถยนต์ก็จะต้องหยุดชะงักตามไปด้วย ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งความสามารถของเราในการบริหารจัดการวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความเป็นเลิศในการดูแลและรับผิดชอบต่อลูกค้าของเรา

คุณมองการพัฒนาตลาดรถยนต์ในประเทศไทยและในภูมิภาคอย่างไรบ้าง?

นโยบายภาครัฐในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยที่ผ่านมานั้นดีและมีความต่อเนื่องถึงแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้ง โดยเป็นแผนงานที่มีวิสัยทัศน์ด้วยนโยบายที่สนับสนุนการผลิตรถกระบะขนาด 1 ตันซึ่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลกสำหรับรถกระบะขนาด 1 ตัน นโยบายรถ eco-car หรือรถยนต์ประหยัดพลังงานซึ่งจะช่วยประกันการลงทุนอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยเป้าหมายการผลิตรถยนต์ให้ถึง 100,000 คันสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ และด้วยเทรนด์การใช้รถยนต์ขนาดเล็กลงในอนาคต รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายที่ถูกต้องในการสร้างความเป็นผู้นำในการเป็นฐานการผลิตสำหรับรถยนต์สองประเภท ได้แก่ รถกระบะขนาด 1 ตัน และรถ eco-car หรือรถยนต์ประหยัดพลังงาน สำหรับประเทศไทย ในด้านการเงิน ระบบธนาคารของเราค่อนข้างแข็งแกร่งและมีสภาพคล่องที่ดีซึ่งเป็นปัจจัยเอื้อในการทำธุรกิจ และกฎหลักที่เรายึดถือเสมอคือต้องชำระหนี้ให้ธนาคารตามกำหนด ในระดับภูมิภาค ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ส่วนมากต่างให้ความสำคัญกับผลกำไร และการสร้างผลกำไรก็หมายถึงจะต้องมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะยังคงเป็นฐานการผลิตที่เหมาะสมด้วยต้นทุนที่ต่ำ มีความพร้อมในด้านแรงงานมีทักษะ ที่ดินมีราคาที่สมเหตุสมผล การสนับสนุนของรัฐบาล มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และมีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรในการทำธุรกิจ อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตรถยนต์ก็คงมองประเทศอื่น เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือเวียดนามเป็นทางเลือกเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า มาเลเซียก็ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพ เราเคยพยายามที่จะขยายธุรกิจไปมาเลเซียในอดีตและอาจมองหาโอกาสอีกในอนาคตเนื่องจากตลาดรถยนต์ในมาเลเซียมีความต้องการรถยนต์ถึง 600,000 คัน ซึ่งถึงแม้ว่าจะน้อยกว่าประเทศไทยแต่การแข่งขันก็ไม่รุนแรง และธุรกิจมีโอกาสประสบความสำเร็จในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า อีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจก็คือเวียดนาม มีผู้ผลิตที่ย้ายไปตั้งฐานการผลิตในเวียดนามเมื่อสิบกว่าปีก่อนและประสบปัญหาอย่างมาก แต่เราก็กำลังศึกษาโอกาสในการขยายธุรกิจไปเวียดนามโดยเริ่มจากก้าวเล็กๆ ก่อน

มีข่าวมากมายเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ทั้งจากรัฐบาลไทยและบริษัทรถยนต์ระดับโลก ประเด็นนี้จะมีผลกระทบต่อ AH บ้างหรือไม่?

EV จะมาแน่นอนและมาเร็วกว่าที่เราเคยคาดการณ์ไว้ เมื่อปีที่แล้ว มีแนวคิดที่บอกว่าในจำนวนรถยนต์ทั่วโลก ประมาณหนึ่งในสามจะเป็นรถยนต์ EV ที่ใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อน หนึ่งในสามเป็นรถยนต์ระบบไฮบริด และหนึ่งในสามเป็นรถยนต์ระบบเผาไหม้ภายใน แต่สภาพแวดล้อมต่างๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาทิ วอลโว่ออกมาประกาศว่าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% สหราชอาณาจักรก็บอกว่าในอนาคตบนถนนจะมีแต่รถไฟฟ้าเท่านั้น และหากรัฐบาลของประเทศอื่นจะทำตามเทรนด์นี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จีนเองก็ผลักดันในเรื่องนี้อย่างแข็งขัน และด้วยวัฒนธรรมที่ค่อนข้างคุ้นเคยกับยานพาหนะไฟฟ้าอยู่แล้ว เช่น รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ก็จะยิ่งทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดเร็วขึ้น สำหรับอาปิโก เราอาจได้รับผลกระทบสำหรับสินค้าบางกลุ่ม แต่เนื่องด้วยธุรกิจของเราค่อนข้างมีความหลากหลายของชิ้นส่วนยานยนต์ เราจะยังคงได้รับประโยชน์จากการที่อุตสาหกรรมโดยรวมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเร็วๆ นี้ AH ได้ร่วมลงทุนกับ Sakthi มีที่มาที่ไปอย่างไร? มีแผนจะขยายธุรกิจร่วมกับพันธมิตรรายอื่นอีกหรือไม่?

การร่วมทุนนี้เป็นข้อตกลงที่เปิดโอกาสให้ AH ได้ก้าวไปเป็นผู้ผลิตในระดับโลกโดยการประสานความร่วมมือกันระหว่างสองบริษัทในด้านเทคโนโลยี ฐานลูกค้า ผลิตภัณฑ์ และตลาดโลก ถือเป็นโอกาสที่พิเศษที่เอื้อประโยชน์ร่วมกันให้กับทั้งสองฝ่าย ให้ความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาวสำหรับ AH ในการเติบโตจากการเป็นบริษัทในระดับภูมิภาคไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์ของเราจะขยายไปสู่ชิ้นส่วนประกอบด้านความปลอดภัย ได้แก่ ชุดหัวต่อแกนล้อ (Steering Knuckle) และชุดอุปกรณ์เบรก (brake components) เราจะลงทุนในมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการเข้าถือหุ้น 25.1% ในบริษัท Sakthi Global Auto Holdings (SGAH) ขึ้นอยู่กับมูลค่าของหลักทรัพย์บนฐานค่าเฉลี่ยสองปีของกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายในปี 2018 และ 2019 โดยเป็นการลงทุนในหุ้นจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และให้เงินกู้แปลงสภาพจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการนี้ SGAH จะจ่ายดอกเบี้ยให้กับ AH จำนวน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีเป็นเวลา 3 ปี และในระยะเวลา 3 ปีนี้ SGAH จะต้องลงทุน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในส่วนธุรกิจการผลิตโครงช่วงล่างและธุรกิจชิ้นส่วนตีอัดขึ้นรูปของ AH ซึ่ง AH ตั้งเป้าหมายในการเป็นผู้ผลิตระดับโลกสำหรับโครงช่วงล่าง ดุมล้อ (Hub) และหัวต่อแกนล้อ (Knuckle) สำหรับรถยนต์ทั่วโลก ถ้าเราสามารถบรรลุเป้าหมายได้ นั่นคือตลาดรถยนต์ 100 ล้านคันที่เราจะเจาะเข้าไป และเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าโอกาสประสบความสำเร็จมีสูงมาก เราตั้งความฝันไว้และไล่ตามความฝันนั้นแม้มันอาจดูเป็นไปไม่ได้ก็ตาม แต่หากลองมองดูโลกของเราในวันนี้ ชาวนาในประเทศจีนยังใช้เทคโนโลยีในการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือกันแล้ว เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ล้วนเป็นไปได้ในโลกยุคปัจจุบัน

คุณช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า AH เข้าไปมีส่วนร่วมกับเรื่องอินเตอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่งอย่างไรบ้าง

จุดสนใจของเราสำหรับ IoT หรืออินเตอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่งจะเป็นในส่วนที่เกี่ยวกับยานยนต์ เมื่อสิบปีที่แล้ว เราเริ่มทำแผนที่ประเทศไทยโดยมุ่งหวังที่จะทำแผนที่และซอฟท์แวร์ที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราให้ทุนกับนักศึกษาในสิงคโปร์เป็นเงิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยถือหุ้น 25% ในบริษัทที่เติบโตจากมีพนักงาน 20 คนเป็น 200 คนในปัจจุบัน และเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทก็ถูก Continental ซื้อกิจการไป และแม้ว่าเราได้ผลตอบแทน 4 เท่าจากการขายกิจการ เราก็ต้องการที่จะพัฒนาแผนที่ของเราต่อแต่เรายังขาดองค์ประกอบในเรื่องของซอฟท์แวร์ เรายังคงต้องการที่จะสร้างแผนที่ที่ดีที่สุดในประเทศไทย เพราะแม้แต่ Google หรือแผนที่อื่นก็ยังมีปัญหา ในขณะที่แผนที่ของเรา เราได้ตรวจสอบทุกแง่มุมของปัญหาที่มีความเป็นไปได้ ตัวอย่างที่เห็นชัด เช่น การสะกดคำของภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีวิธีการหลายแบบในการสะกดคำว่าสนามบินสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi Airport) หรือ ลาดพร้าว (Ladprao) ดังนั้น เราจึงมุ่งมั่นในการสร้างสิ่งเหล่านี้โดยใช้ทรัพยากรที่ดีกว่า การจัดการยานพาหนะ และการเชื่อมต่อ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สิงคโปร์ได้ใช้เทคโนโลยีของเราแล้วสำหรับโครงการ ERP 2 และ Navtech ก็ใช้แผนที่ของเรามากว่าทศวรรษจนถึงเมื่อไม่นานมานี้ เรามองว่ามีโอกาสมากมายสำหรับ IoT และอุตสาหกรรมยานยนต์ อาทิ เช่น ระบบการซื้อขายยานยนต์ของผู้บริโภค ซึ่งเราได้ลงทุนในการพัฒนาซอฟท์แวร์ใหม่เพื่อรองรับ นอกจากนี้ เรายังมองถึงการทำให้โรงงานเป็นระบบดิจิตอล เราต้องการที่จะเทียบชั้นกับโรงงานที่ดีที่สุดในโลก เพื่อที่จะดูแลและควบคุมต้นทุน และให้มั่นใจว่าโรงงานของเรามีขีดความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมนานาชาติ

อะไรคือความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจคุณ?

ด้วยความที่บริษัทเติบโตขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา เราไม่สามารถทำงานโดยขึ้นกับบุคคลหรือกลุ่มคนกลุ่มเดียวในแก้ปัญหาอีกต่อไปแต่เราต้องการแนวคิดและทัศนคติที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งเราก็ตระหนักดีในจุดนี้มาตั้งแต่แรก และเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงมีการลงทุนแบบการถือหุ้นไขว้ ร่วมลงทุนในกิจการร่วมค้า และเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทชั้นนำ เราจะเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่ดีที่สุด ผู้ผลิตสินค้าและบริการที่ดีที่สุดสำหรับผลิตภัณฑ์หรือระดับโลกเสมอ นับเป็นปัจจัยที่ทำให้เราสามารถให้ความสำคัญในการรักษาผลกำไรและกระแสเงินสดของกลุ่มบริษัทได้

คุณมองธุรกิจ AH ในอีก 5 ปีข้างหน้าอย่างไรบ้าง?

การร่วมลงทุนกับ Sakthi นั้นเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งเรามุ่งมั่นในการขยายและต่อยอดธุรกิจของบริษัทออกไป ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากร วัฒนธรรม และบุคลากรในองค์กรที่เพิ่มขึ้น บทบาทของผมก็เปรียบเสมือนประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายจ้างงาน ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมมาเลเซียจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผม ด้วยเพราะความสามารถของบุคคลที่สามารถเข้ากันได้ดีกับความหลากหลายทางเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และมาเลย์ และความสามารถในการทำงานร่วมกันกับคนต่างวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี มุมมองของผมในการประสบความสำเร็จก็คือเราจะต้องมุ่งมั่นสนใจกับธุรกิจของเรา ซึ่งความสนใจของเราคือยานยนต์ และนอกเหนือจากความมุ่งมั่นสนใจแล้ว ไม่ว่าจะในการทำธุรกิจหรือในชีวิตประจำวัน ความซื่อสัตย์ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการทำในสิ่งที่ถูกต้องทำให้โลกของเราง่ายขึ้นและดีขึ้น วิสัยทัศน์ของ AH ก็คือเราจะเป็นองค์กรที่มีความสุขและคล่องตัว เป็นผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพและทำให้ลูกค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้นมีความสุขกันถ้วนหน้า


The Executive Talk Interview จัดทำโดย ShareInvestor ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในเอเชียด้านสื่อออนไลน์ทางการด้านเงินและเทคโนโลยี และมีเครือข่ายนักลงทุนสัมพันธ์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถส่งอีเมล์มาที่ admin.th@shareinvestor.com เว็บไซต์: www.ShareInvestorThailand.com